Miang
2 min readDec 23, 2018

สรุปหนังสือ ปัญญาวิชาชีวิต — ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

หนังสือเล่มนี้ได้ต้นแบบมาจาก How will you measure your life? by Clayton M. Christensen โดยคุณภิญโญแปลและเรียบเรียงคำพูดใหม่ตามสไตล์คุณภิญโญ

ทด: เนื้อหาในเล่มจะเป็นคำสละสลวย และแบ่งบรรทัดแบบเป็นภิญโญ ซึ่งในสรุปนี้ถ้ายกคำมาจากหนังสือเลยจะขอใส่เครื่องหมายคำพูดและเว้นบรรทัดให้เหมือนหนังสือ เพื่อให้ได้ฟีลนั้น 😄

กระบวนการ disruption

เป็นกระบวนการที่ธุรกิจรายใหญ่โดนโจมตีโดยธุรกิจรายใหม่ที่เล็กกว่า แต่มีสินค้าราคาถูกกว่า เทคโนโลยีใหม่กว่า

ผู้เล่นรายเดิมประมาท ไม่สนใจเทคโนโลยีให้ทันสมัย ประสิทธิภาพดีในราคาที่ถูกลง จึงมีผู้เล่นรายใหม่สามารถโจมตีจากตลาดที่มีความต้องการสูง และค่อยๆขยับจนครอบครองตลาดโดยสมบูรณ์

คำถามสำคัญคือ จุดที่จะถูกทำลายล้างทางธุรกิจของเราอยู่ส่วนไหน หากเราเป็นผู้เล่นรายเดิม เปลี่ยนแปลงเชื่องช้า จะรับมือผู้เล่นใหม่ที่มีเทคโนโลยี ฉับไว ราคาถูกยังไง

การหยุดตัวเองไว้ที่ความรู้เก่า

ประสบการณ์เก่า

โดยไม่แสวงหาความรู้ใหม่

ประสบการณ์ใหม่

เป็นหนทางอันเรียบง่าย

ที่จะเดินเข้าสู่หายนะเบื้องหน้า

ปัญหาใหญ่ในยุค disruption คือบริษัทส่วนใหญ่ใช้ทรัพยากรมากไปในการรักษาอดีต และใช้ทรัพยากรน้อยไปในการสร้างอนาคต

ตอนที่ Clayton นำเสนอแนวคิดนี้ให้ Intel ได้ยกตัวอย่าง Nucor โรงงานผลิตเหล็กรายเล็กที่เจาะตลาดล่างก่อนและยึดครองทีละส่วนจนรายใหญ่สู้ไม่ได้

Intel จึงออก Processor Celeron ออกมาปิดตลาดล่าง

Clayton บอกว่าเจ้าตัวไม่ได้รู้เรื่อง processor แค่นำเสนอ how to think แทนที่จะเป็น what to think เพื่อให้อีกฝ่ายที่เชี่ยวชาญในด้านนี่อยู่แล้วหาคำตอบที่ถูกต้องเอง

ในวิชาของ Clayton จะขอให้นักเรียนวิเคราะห์ตัวเองแล้วตอบคำถาม 3 ข้อ

1. เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า

เราจะมีความสุขกับหน้าที่การงาน

2. เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า

ความสัมพันธ์กับคู่ชีวิต ครอบครัว

จะเป็นต้นธารแห่งความสุขไม่ขาดสาย

3. เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า

เราจะไม่จบชีวิตอย่างเดียวดายในคุก

มาไล่ดูคำตอบกันทีละข้อ

1. เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราจะมีความสุขกับหน้าที่การงาน

แรกผลักดันในชีวิตเราไม่ได้มาจากเงินทองแต่มาจาก 4 อย่างคือ โอกาสในการเรียนรู้, ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น, ทำเพื่อคนอื่น และ มีคนชื่นชมผลงาน

เงินไม่ใช่ปัจจัยสูงสุด, เงินรายได้ที่ดี เงื่อนไขในการที่เป็นธรรม หัวหน้าที่มีภาวะผู้นำทำให้คนไม่เกลียดงานเท่านั้น ความรักงานเกิดจากโอกาสที่จะได้เรียนรู้ศึกษาเพิ่มเติมจากงานนั้น

2. เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าความสัมพันธ์กับคู่ชีวิต ครอบครัว จะเป็นต้นธารแห่งความสุขไม่ขาดสาย

อันดับแรกเราต้องให้ค่าความสำคัญก่อนว่าอะไรสำคัญ แล้วใช้ทรัพยากร(เวลา ปัญญา และพลังงาน)ไปกับมัน

หัวใจของกลยุทธ์

นอกจากการจัดสรรทรัพยากรแล้ว

จึงคือการทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิต

ออกไปให้ได้มากที่สุด

เมื่อทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป

ธุรกิจจึงคงเหลือแต่

สิ่งสำคัญและจำเป็นสูงสุด

แม้แต่นักศึกษาธุรกิจมหาวิทยาลัย Harvard ส่วนมากยังไม่รู้เลยว่า ความมุ่งมั่นปรารถนา(purpose)ของตัวเองคืออะไร

ถ้าเอาแต่ผัดผ่อนตัวเองไม่ตอบคำถามนี้ ชีวิตจะมีข้อเรียกร้องมากขึ้นเรื่อยๆทั้งการผ่อนบ้าน การทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

Clayton ใช้เวลา 1 ชั่วโมงทุกคืน อ่านพระคัมภีร์ ทบทวนตน สวดมนต์ และ สนทนากับพระเจ้า

พระองค์ส่งลูกมาเกิดบนโลก

ด้วยพระประสงค์ใด

จุดมุ่งหมายของ Clayton คือ งอกงามศรัทธาในศาสนา

What can’t be outsourced — ไม่ใช่พ่อแม่ ไม่ใช่แฟน ทำแทนไม่ได้

การจ้างคนนอกองค์กร บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ดี ทำให้เราสามารถเอาเวลามาจัดการจุดแข็งได้เต็มที่ แต่ในชีวิตเรา มีบางอย่างที่ไม่อาจไปจ้างคนนอกทำแทนได้

การทุ่มเททำงาน แต่ให้แรงงานต่างด้าวเลี้ยงดูบุตรหลาน เอาความรู้ ความสามารถให้คนอื่น แต่กับคนที่รักที่สุดให้แค่วันหยุด เท่ากับสูญเสียเวลาที่ดีที่สุดให้กับการสร้างงานภายนอก

อย่าสนใจแต่ผลตอบแทนระยะสั้น ให้ดูผลตอบแทนระยะยาวด้วย

การเป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ต้องรู้จักเครื่องมือสร้างสรรค์ความร่วมมือ ถ้าองค์กรไหนมีความเห็นพ้องต้องกันน้อย เครื่องมือสำคัญคือ อำนาจในการข่มขู่ ลงโทษ

กลุ่มผู้บริหารต้องกำหนดว่า ต้องทำอะไร ทำอย่างไร เมื่อทำไปนานๆก็จะกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร

ในตอนเด็กพ่อแม่สามารถใช้วิธีบังคับให้ลูกทำตามได้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่เมื่อลูกโตแล้วจะใช้ไม่ได้อีก

วิธีที่ถูกต้องคือให้ใช้เวลาสร้างวัฒนธรรมที่ดีกับลูกตั้งแต่ยังเด็ก

3. เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราจะไม่จบชีวิตอย่างเดียวดายในคุก

ข้อนี้ดูเหมือนเรื่องไกลตัว แต่ Clayton กล่าวว่า 2 ใน 32 คนที่ได้รับทุนโรดส์ โดนโทษคุมขัง

Jeff Skilling เพื่อนร่วมชั้นของ Clayton สมัยเรียน Harvard เคยเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง เคยทำรายได้ถึง 132 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี แต่ต้องโทษคุมขัง 24 ปี 4 เดือน ลูกชายคนเล็กเสียชีวิตเมื่ออายุ 20 ปี เนื่องจากเสพยาเกินขนาด

คำนี้จึงเป็นอีกคำถามสำคัญ

จุดเริ่มต้นของการทำผิดคือความคิด แค่หนนี้หนเดียว

การยอมให้ตัวเองทำผิดเพียงหนึ่งครั้งนี่แหละ นำไปสู่ความทุกข์ ในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย Clayton มีแข่งบาสรอบชิงชนะเลิศ แต่วันที่แข่งดันเป็นวันอาทิตย์ ซึ่ง Clayton ได้ให้สัตย์ปฏิญาณกับพระเจ้าว่าจะไม่เล่นกีฬาในวันนั้นตั้งแต่อายุ 16 ปี (ทำไมไปปฏิญาณเรื่องนี้หว่า🤔) เลยยึดมั่นว่ายังไงก็จะไม่ลงแข่งแม้เพื่อนร่วมทีม และโค้ชจะมาขอร้อง

มันเป็นการง่ายกว่า

ถ้าเราจะรักษาหลักการไว้ 100 ครั้ง

แทนที่จะรักษาหลักการไว้ 98 ครั้ง

เพิ่มเติม

วันที่ 23/9/62 คุณภิญโญมาพูดที่วงใน เลยได้มีโอกาสเอาเล่มนี้ไปขอลายเซ็น ได้คุยกันนิดหน่อยว่าตอนอ่านไม่ได้เข้าใจทั้งหมด (ในเล่มมีวงอะไรที่วงๆไว้ด้วย พี่รุตน์ head of people ยืมไปเปิด ๆ ดูเดาว่าเห็นแล้วด้วย 555) คุณภิญโญเล่าว่าตอนแปลก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน เช่นเรื่องที่ Clayton อ่านไบเบิลก่อนนอนทุกคืน พอไปอ่านเซนก็เข้าใจว่า ที่อ่านไบเบิลแล้วนำมาครุ่นคิดก็ไม่ต่างจากพระเซนอ่านโกอานแล้วพิจารณาทีละประโยค

หนังสือเล่มนี้ก็เช่นกันบางอย่างเราต้องใช้เวลาคิดเป็นเดือนเป็นปีจึงจะเข้าใจ

Miang

Mobile developer ชอบอ่านหนังสือก่อนนอน ช่วงนี้ชอบเล่น Animal Crossing, Ringfit